
ท่ามกลางความแปรเปลี่ยน ใครก็ไม่อาจหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงได้ จากโรงหนังชั้นสองที่กรุงเทพฯ ถึงตลาดปลาใหญ่ที่สุดในโลก ณ มหานครโตเกียว จากแผงหนังสือเล็กๆ ในเซี่ยงไฮ้ถึงค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ในนิวยอร์ค จากนักท่องเว็บลามกถึงนักคิดผู้พร่ำปรัชญาการใช้ชีวิต ฯลฯ มีใครบ้างไม่ซวนเซไปด้วยกระแสลมแห่งยุคสมัย
ในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้เอง เราตั้งคำถามถึงการดำรงอยู่ของบางสิ่ง ขณะที่อีกหลายสิ่งกำลังสิ้นสลายไปตามกาลเวลา กวีนิพนธ์เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนตั้งคำถามบ่อยครั้งถึงลมหายใจของมัน ในยุคที่ผู้คนมองหาแต่ความตื่นเต้นฉับไว มิใช่ความละเมียดละไมลึกซึ้ง
แต่ไม่ว่าเราจะถามสักกี่ครั้ง ย้ำกันสักกี่หนว่า กวีนิพนธ์ตายแล้ว? ก็ยังคงมีผู้คนมากมายที่หลงใหลในศิลปะแห่งกวีนิพนธ์ พวกเขายังคงอ่าน พวกเขายังคงเขียน พวกเขายังคงเพียรขับขานกวีนิพนธ์อันเป็นที่รัก
แม้ดอกผลแห่งการสร้างสรรค์อาจมีเพียงน้อยนิด แต่กวียังคงทำงานของพวกเขาต่อไป เหมือนคนสวนที่ปลูกดอกไม้โดยปรารถนาเพียงได้ชื่นชม หรือในบางโอกาสอาจมีคนแวะผ่าน มองเห็น และลิ้มรับความดีงามจากดอกไม้เหล่านั้น
ในหมู่นักสร้างสรรค์กวีนิพนธ์ร่วมสมัย พลัง เพียงพิรุฬห์ เป็นหนึ่งในกวีที่มีผลงานอย่างไม่ขาดสาย จากกวีนิพนธ์สำนวนแรกที่ได้รับการตีพิมพ์เมื่อปี 2543 เขามีผลงานกวีนิพนธ์ชุดแรก “อาศรมพระจันทร์” เมื่อปี 2547 ตามด้วย“ปรากฏการณ์” เมื่อปี 2550 “โลกใบเล็ก” เมื่อปี 2556 และล่าสุดกับ “นครคนนอก” ในปีนี้
หากเทียบกับงานก่อนๆ เราจะเห็นหลายสิ่งที่ขยับปรับเปลี่ยนไปใน “นครคนนอก” กวีนิพนธ์ชุดนี้เต็มไปด้วยลูกเล่นที่ พลัง เพียงพิรุฬห์ ใส่เข้ามาเต็มเพียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงแห่งยุคสมัย จังหวะและท่วงทำนองใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม แฮชแท็ก แร็พ เดธเมทัล ผสมผสานไปกับเสียงรถยนต์กลางท้องถนน เสียงก่อสร้างตึกสูงใหญ่ เสียงประกาศเร่ขายของ เสียงผัดฉ่าปลาดุก และอื่นๆ อีกมากมาย รวมทั้งเสียงของความเงียบที่กึกก้องอยู่ในใจผู้คน
พลัง เพียงพิรุฬห์ บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนใน พ.ศ.นี้ ซึ่งอยู่กับความจริงไม่ใช่ความฝัน พวกเขาต่อสู้ดิ้นรนบนหนทางที่ไม่มีให้เลือกมากนัก ต่างพยายามใช้ชีวิตอย่างดีที่สุด ทุ่มเทกับงานตรงหน้า อดทนต่อปัญหาต่างๆ นานา เพื่อประคับประคองชีวิตและผู้คนที่พวกเขารักไปด้วยกัน
ทุกคนล้วนมีเรื่องราวของตัวเอง ต่างเต็มไปด้วยภาระหน้าที่ในแต่ละวัน จนไม่มีเวลาสนใจใคร เรามีดวงตาทว่ากลับมองไม่เห็นผู้อื่น เรามีสองหูแต่ไม่อาจสดับเสียงผู้ใด โลกของแต่ละคนถูกตัดแบ่งเป็นส่วนเสี้ยว ต่างคนต่างใช้ชีวิตของตัวเองไปวันๆ เกิด อยู่ และตายไปตามลำพัง หลายคนเป็นเสมือนคนแปลกหน้าในบ้านตัวเอง
กวีนิพนธ์ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ ทำให้เราต้องหันไปมองผู้คนในสังคมอย่างพินิจพิจารณา ทั้งคนอย่างเฒ่าแถม คนงานก่อสร้างรุ่นเดอะใน “นักนั่งร้าน” เฒ่าสอน คนไร้บ้านใน “สวนสอนอนุสติ” เฒ่าวาด เจ้าแห่งคาถาอาคมใน “จอมขมังเวทย์” ยายแต แม่ค้าไข่ปิ้งหาบเร่ใน “นักหาบแดด” ดาวไสว แม่ค้าขายข้าวแกงกลางเมืองใหญ่ใน “ผัดเผ็ดปลาดุกคลุกเครื่องข่า” ซึง หนุ่มเลี้ยงวัวใน “เรื่องจำเพาะเจาะตรงจากท้องทุ่งถลาบิน” โต หนุ่มออฟฟิศผู้เปลี่ยนตัวเองมาเป็นช่างกลึงใน “โชยกลิ่นน้ำมันขี้โล้จากโรงกลึงเก่าแก่” ส้มและเกียรติ คู่รักผู้ฝันจะมีรถของตัวเองสักคันทั้งๆ ที่มีค่าใช้จ่ายมากมายสารพัดใน “เจน-ซี” ฯลฯ
แม้ต่างกันด้วยเพศ วัย และอาชีพ ทว่าทั้งหมดล้วนเป็นเหมือนกันคือ ต้องต่อสู้ดิ้นรนจนไม่มีเวลาให้ท้อ ชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม
“...ศรปักซอกอกงอกเป็นดอกไม้
กระดิกกลีบพราวไสวในสวนปรารถนา
ต่างเป็นคนบ้านนอกจากคอกนา
ต่างครวญเพลงด้วยภาษาการดิ้นรน...”
(“ด็อกออนเดอะโรด” หน้า 71)
นอกจากนี้ยังมีคนอย่างปีเตอร์ รูท และแมรี ทอมป์สันใน “ปีเตอร์ รูท กับ แมรี ทอมป์สัน และคนอื่นอื่น” ซึ่งชื่นชอบการขี่จักรยาน ทว่าทั้งสองกลับต้องมาทิ้งชีวิตไว้บนท้องถนน ชายชราผู้เดียวดายใน “เหตุผลของคนข้างบ้าน” ซึ่งสิ้นลมหายใจไปโดยที่ไม่มีใครรับรู้ เด็กๆ อย่างเด็กชายเฟิร์สใน “เด็กเด็กมักอยู่ในท้องหนอนตัวนั้น” ที่มักถูกอัดอยู่ท่ามกลางผู้คนบนรถไฟฟ้าในยามเช้าอันรีบเร่งของเมืองหลวง นักการเมืองท้องถิ่นอย่างคำหลายใน “เสียงแคนนั้นคราวหนาวนาน” ผู้หวังว่าตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลจะปลดหนี้สินและกู้ฐานะให้แก่เขาได้ ศิลปินอย่างนุ้ยใน “มนุษย์ต่างดาว ๒ จิตตะกอน” ผู้มีความสุขกับการวาดภาพจักรวาลอันบรรเจิด ชิดพงษ์ใน “น้ำหนัก” ผู้ต้องต่อสู้กับน้ำหนักเกินร้อยของตัวเอง ฯลฯ
ผู้คนที่อยู่ร่วมกันในสังคมแตกต่างและหลากหลาย พลัง เพียงพิรุฬห์ เขียนถึงผู้คนเหล่านี้เหมือนต่อภาพจิกซอว์สังคมให้เราเห็น แต่ละตัวละครเป็นเสมือนตัวแทนของคนกลุ่มต่างๆ ซึ่งล้วนมีชีวิตตามแบบฉบับของตัวเองทั้งสิ้น
น่าสังเกตว่า นอกจากกวีนิพนธ์แล้ว พลัง เพียงพิรุฬห์ ยังเขียนงานเรื่องสั้นไว้ไม่น้อยโดยใช้ชื่อจริงคือ เกริกศิษฏ์ พละมาตร์ จนมีรวมเรื่องสั้นออกมาแล้วหนึ่งชุดได้แก่ “เรากำลังกลายพันธุ์” นี่อาจเป็นที่มาของกวีนิพนธ์ในลักษณะที่มีทั้งตัวละคร เรื่องราว และบทสนทนา ทว่าแทนที่จะเน้นการผูกเรื่องแบบเรื่องสั้น เขากลับโฟกัสที่ภาพชีวิตของแต่ละคน และอารมณ์ความรู้สึกที่ร้อยเรียงออกมาอย่างซื่อตรง
เขาใช้คำง่ายๆ การบอกเล่าที่ตรงไปตรงมา ทั้งกวีนิพนธ์ฉันลักษณ์ ไร้ฉันทลักษณ์ วรรณรูป และกวีนิพนธ์เชิงทดลอง เพื่อสื่อกับผู้คนซึ่งคุ้นชินกับสื่อและเสียงร่วมสมัยต่างๆ อาทิ แฮชแท็ก และเพลงแร็พ
“ตื่นแล้ว
#ยิ้มหน่อยนะเตง#เพลงส่งไปใหม่แล้วไง#ให้ของขวัญ#วันแสนสุข#กุ๊กกิ๊ก#ชิกชิล#มิ้นมิ้นคุณนาย ตื่นสาย#ม่ายรุ#ครุคริ#นิพรือหลาว#ข้าวเช้าไม่ได้กิน#บินไม่ได้นี่#ชีวิตดี๊ดี...”
(“ชีวิตติดแฮชแท็ก” หน้า 37)
“วอทซับโย่...โย่... เวคอัพโฮ่...โฮ่ นี่ พวกคุณมาดูนี่ สงครามคือสินค้า มันคือมัจจุราชไร้โฉมหน้า คือลูกปืนประหารปัญญา คือเรื่องราวของคนบ้า วันนี้มาเจอเอ็มซีอวตาร พูดไปพูดมาพูดไปพูดมา มีแต่เรื่องอันทรมาน สงครามคือปัญหา อำนาจคือความบ้า บ้าอำนาจคือเสียสติสิ้นดีเลยคุณว่าไหม โย่...”
(“แร็พ แบทเทิล” หน้า 170)
ท่ามกลางความแปรเปลี่ยน กวีนิพนธ์ของ พลัง เพียงพิรุฬห์ คือส่วนหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงของกวีนิพนธ์ร่วมสมัย ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เราได้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะผันแปรไปขนาดไหนก็ตาม พลังขับเคลื่อนของกวีไทยยังคงไม่ถดถอย ตรงกันข้าม ความแปรเปลี่ยนกลับเป็นพลังกระตุ้นการสร้างสรรค์ พร้อมกันนั้น ความแปรเปลี่ยนยังเป็นวัตถุดิบที่น่าสนใจที่สุดสำหรับกวีหลายคน
สุดท้าย ไม่ว่าโฉมหน้าของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อเพ่งพินิจดูให้ดี เรากลับยังคงเห็นสัจธรรมที่ไม่เคยพลิกเปลี่ยน
“...แท้แล้วกายดุจบ้านเช่าเท่านั้น
ไม่กี่วันคืนเจ้าของต้องซมซาน...”
(“บางทีก็รู้สึกว่ามนุษย์บอบบางเหลือเกิน” หน้า 149)
โลกยังคงหมุนไป เช่นเดียวแห่งกงล้อแห่งสัจธรรม และเสียงกวีนิพนธ์ที่แว่วมาจากที่ไหนสักแห่ง.
Comments